โอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคาร (AIS/Dtac/ทรู) ทำได้ไหม ? ทำอย่างไร ?

มีเงินเหลือในซิม จะสามารถโอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคารได้ไหม ไปพบเจ้าหน้าที่ค่ายโทรศัพท์แล้วแจ้งว่าไม่สามารถโอนเข้าบัญชีได้จะต้องทำยังไงบ้าง? วันนี้เช็คก่อนหาข้อมูลมาให้แล้ว ไปดูรายละเอียดได้เลย

โอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคาร ทำได้ไหม ?

การโอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคารนั้น โดยปกติแล้วเรามักจะพบเห็นว่าทางค่ายโทรศัพท์มือถือแนะนำให้โอนเงินให้เบอร์อื่นแทนการโอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคาร ได้แก่

  • TRUE : ทรูจะมีบริการโอนเงินทรูให้เบอร์ทรู ได้ครั้งละ 10-50 บาท อ่านต่อ
  • AIS : เอไอเอสสามารถโอนเงินให้เพื่อนเบอร์อื่นที่เป็นวันทูคอลได้ ครั้งละ 10~100 บาท อ่านต่อ
  • DTAC: ดีแทคโอนให้เบอร์อื่นได้ครั้งละ 20-200 บาท อ่านต่อ

.          ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าคุณมีเงินในซิมคงเหลือไม่ได้ใช้ แล้วโอนไปให้เพื่อน จากนั้นให้เพื่อนจ่ายเงินคืนมาหรือโอนเข้าบัญชีคืนมา ก็สามารถทำได้ เพื่อนคุณก็ประหยัดเวลาในการเติมเงิน และคุณก็ได้ประโยชน์จากยอดที่เหลือไม่ได้ใช้

และถึงแม้เรามักจะไม่ค่อยพบเห็นค่ายโทรศัพท์แจ้งให้โอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคารของเราโดยตรง ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่สามารถทำได้ เพราะว่ามีประกาศจากกสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนนี้อยู่

ประกาศ กสทช. ขอเงินคืนเข้าบัญชีได้ (ขอคืนซิม)

เช็คก่อนได้ตรวจสอบเกี่ยวกับข้อกำหนดการให้บริการซิมเติมเงินแล้ว พบว่า ถ้าเรามียอดเงินคงเหลือในซิม แล้วไม่สะดวกที่จะโอนให้เบอร์อื่น เมื่อคุณขอคืนซิมคุณจะสามารถขอคืนเงินที่เหลือในซิมได้ โดยคืนเงินเป็นโอนเงินในซิม เข้าบัญชีธนาคาร

โดย กสทช. ระบุไว้ในมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมว่า

“ในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน เมื่อเลิกสัญญาจะได้รับเงินคงเหลือในระบบคืนภายใน 30 วัน ในรูปแบบเงินสด เช็คโอนเข้าบัญชีธนาคาร โอนไปยังเลขหมายอื่นในค่ายเดียวกัน หรือพร้อมเพย์ ทั้งนี้ตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้”

นั่นหมายความว่า หากคุณต้องการโอนเงินในซิมเข้าบัญชีธนาคารจริง ๆ ก็จะต้องปิดซิม แล้วแจ้งทางเครือข่ายสัญญาณมือถือของคุณ อย่าง AIS, ทรู หรือดีแทค ว่าต้องการขอคืนซิมและรับเงินในซิมแบบเข้าบัญชีธนาคาร

ซึ่งในจุดนี้ก็มีผู้ใช้ Pantip ท่านหนึ่งแจ้งว่าขอคืนซิมแล้วได้รับเป็นเงินสดมาวางตรงหน้าเลยก็มี ตัวอย่างประสบการณ์ใน Pantip เช่น

 “”ปิดเบอร์” ยื่นบัตรประชาชน “ขอเงินในซิมคืนด้วย”

                …เอไอเอส … เซ็นเอกสารเสร็จ ได้เงินสดวางตรงหน้าเลย ไม่ถึง 15 นาที จบ
                …ดีแทค… เซ็นเอกสาร ย้ำอีกรอบว่า “ขอเงินคืนด้วย” ยื่นบัญชีธนาคารเอกชน ไม่รับธนาคารัฐ เจ้าหน้าที่เอาไปซีร็อกซ์ กลับบ้านไปรอ 15 วันทำการ ได้เงินเข้าบัญชี
                …ทรู… เซ็นเอกสาร ย้ำอีกรอบว่า “ขอเงินคืนด้วย” ยื่นบัญชีให้ซีร็อกซ์ เจ้าหน้าที่แจ้ง 15 วันทำการเงินจะโอนเข้า แต่ราวๆ 7 วันทำการ เงินก็เข้าบัญชีแล้ว”

สรุป

จากข้อมูลที่พบเห็นในออนไลน์ มักพบว่าจะสามารถโอนเงินในซิมได้ โดยแต่ละค่ายจะมีการโอนเงินเป็นรูปแบบโอนเงินในซิมให้เบอร์อื่นในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งหากคุณมีเพื่อนที่ใช้เครือข่ายเดียวกันอยู่ การโอนให้เพื่อนในเครือข่ายเดียวกันก็ทำได้เลย ง่ายและสะดวกเพราะทำได้ด้วยตนเอง (มักเสียค่าธรรมเนียมรายครั้ง)

ในขณะที่หากคุณต้องการปิดซิม ไม่ใช้งานซิมแล้ว และต้องการโอนเงินคงเหลือในซิมเข้าบัญชีธนาคาร หรือรับคืนเป็นเงินสด ก็สามารถแจ้งพนักงานได้ เนื่องจากทาง กสทช. ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นสิทธิ์ของผู้ใช้บริการนั่นเอง

อ้างอิง 1, 2, มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559 ข้อ 34

เช็คก่อน
Logo