วางแผนการเงินให้ดี ช่วงนี้เศรษฐกิจยังไม่ปลอดภัย

          “การวางแผนการเงิน” เป็นเรื่องที่ดีและมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ หากไม่มีการวางแผนที่ดีในการใช้เงิน อาจจะมีผลกระทบต่อเราเองในระยะยาวได้ การวางแผนการเงินนอกจากจะช่วยให้เรารู้รายรับรายจ่ายแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถวางแผนการใช้จ่ายในอนาคตได้ แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หากเราสามารถควบคุมการใช้เงินของเราได้ แม้ว่าเศรษฐกิจแบบนี้ยังมีความเสี่ยงหลาย ๆ ด้านก็ตาม

1. กำหนดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

             ในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ลิสต์ออกมาให้ครบถ้วน เมื่อทราบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว เราจะมองภาพรวมของค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ รู้ว่าอันไหนจ่ายมากที่สุด และจุดคล่องตัวของเราอยู่ที่ไหน เพื่อให้ง่ายในต่อการวางแผนการใช้เงินต่อไป เลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นมากก่อนเสมอ

2. เลือกซื้อสิ่งของที่จำเป็นก่อน

        หลายครั้งความชอบจะมาพร้อมกับคำว่า “ของมันต้องมี” แต่จะให้ดีต้องมีแต่สิ่งของจำเป็นก่อน หากเรายังเลือกซื้อที่ตามใจ ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น จนเราไม่สามารถควบคุมเงินในบัญชีได้ ผลที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นและเป็นหนี้นั่นเอง

3. หาสิ่งของทดแทน

         สิ่งของจำเป็นในบ้านเชื่อว่าหลายคนพยายามที่จะรัดเข็มขัดตัวเองอยู่แล้ว อยากแนะนำเพิ่มว่า หากสิ่งของใดที่ชำรุดและคิดว่าซ่อมได้ ให้เลือกที่จะซ่อมก่อน ก่อนที่จะเลือกตัดสินใจซื้อใหม่ เพราะการซ่อมจะมีค่าใช้จ่ายจ่ายน้อยกว่าซื้อใหม่แน่นอน

4. เลือกออมบางส่วน ดีกว่าไม่ออม

          หากเรายังประเมินว่าค่าใช้จ่ายสูง ยังไม่พร้อมที่จะออมเงิน ยิ่งไม่พร้อม ยิ่งจำเป็นต้องออม แต่การออมไม่จำเป็นต้องออมในจำนวนมาก ๆ อาจเริ่มออมในปริมาณ น้อย ๆ หักจากค่ากาแฟหรือหักจากอย่างอื่นทีละหลักสิบ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นหลักร้อย เชื่อว่าอย่างน้อยสิ้นปี อาจจะมีเงินเก็บหลักหลายพัน เก็บไว้ไปเที่ยว พักผ่อน หรือซื้อของขวัญให้ตัวเองก็ได้ แต่สิ่งที่ได้มากกว่าสิ่งของหรือรางวัล คือ นิสัยของการออม ที่จะทำให้เรามีเงินเก็บในอนาคตได้

5. หยุดการเป็นหนี้

          หากสิ่งใดที่เรารู้สึกว่ายังไม่พร้อมมากที่จะเป็นหนี้ก็หยุดการเป็นหนี้ไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม ยิ่งภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าไหร่ การจะลงทุน หรือการใช้เงินมีความเสี่ยงแล้วละก็แนะนำให้หยุดหรือพักการเป็นหนี้ในทรัพย์สินใหญ่ ๆ ไปก่อน หากเศรษฐกิจดีขึ้น เริ่มมีรายได้มากขึ้น เราค่อยเริ่มขยับขยายทรัพย์สินก็ถือว่ายังไม่สาย

         สุดท้ายนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวดีมากนัก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมองหาช่องทางเพิ่มรายได้แบบค่อยเป็นค่อยไป และในขณะเดียวกันก็เริ่มรัดเข็มขัดของการใช้จ่าย เพื่อให้มีสภาพคล่องในระยะยาวด้วย

 

 


References:

  • ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน.  (2565).  การวางแผนการเงิน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 06 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3miofdx
  • Finnomena.  (2564).  การวางแผนการเงินที่ดีด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่หัดออม.  สืบค้นเมื่อวันที่ 06 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3998na0

เช็คก่อน
Logo