ลาป่วยเพราะโควิด มีสิทธิได้ค่าแรงเหมือนเดิมไหม?

          หลายคนมีความกังวลไม่น้อย หากตัวเองติดโควิด-19 กลัวจะมีผลกระทบต่อครอบครัว คนรอบข้าง รวมไปถึงการงานที่ทำด้วย แม้ว่างานที่เราทำจะให้สิทธิในการลาป่วย แต่ก็อดเป็นกังวลไม่ได้ว่า ที่ทำงานจะยังคงจ่ายค่าตอบแทนเหมือนเดิมไหม? และจะถูกเลิกจ้างในช่วงลาป่วยหรือไม่ ดังนั้น ใครที่เป็นห่วงเรื่องงานและการรับค่าจ้าง หรือกลัวที่จะถูกเลิกจ้าง บทความนี้เรามีคำตอบ

กรณีมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19

         หลังจากมีการสัมผัสผู้มีความเสี่ยงสูง นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างหยุดงาน เพื่อกักตัวตามระยะเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือเป็นการหยุดงานเพื่อลดความเสี่ยงของคนในที่ทำงาน และเป็นการรักษาสิทธิของลูกจ้าง หากติดโควิด-19 จริงจะได้รับการรักษาทันที ดังนั้น ถือเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย กระทรวงแรงงานจึงแนะนำให้ตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ดังนี้

  • ตกลงให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง “leave without pay” หรือ “การหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน” คือ การที่เราเป็นลูกจ้างของบริษัทนั้น แต่ช่วงที่หยุดพักรักษาตัวจะไม่ได้รับเงินเดือน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ คือ ต้องตกลงกันทั้งสองฝ่ายให้เรียบร้อย เพราะลูกจ้างอาจจะเสียเปรียบได้ อย่างน้อย ๆ ให้มีการจ่ายบางส่วน เช่น 30% หรือ 50% เป็นต้น
  • ตกลงให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง “No Work No pay” ในกรณีนี้ เหมาะกับสัญญาจ้างแบบรายวัน คือ ไม่มาทำงานวันไหน ก็ไม่ได้เงินวันนั้น แต่ห้ามใช้คำว่าหักเงิน เนื่องจากอาจผิดพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เสี่ยงติดโควิด-19 หรือติดโควิด-19 แล้ว ก็ต้องมีการพูดคุยกันให้เข้าใจกันอย่างแน่ชัดทั้งสองฝ่าย และให้เป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 76
  • ให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยหรือลาพักร้อนประจำปีตามที่กฎหมายกำหนด โดยส่วนใหญ่แล้ว ลูกจ้างมีสิทธิในการลาป่วยตามกฏหมาย โดยต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันการเจ็บป่วยจริง และยังคงได้รับเงินเดือนตามปกติ ตามเหตุอันสมควร โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ ทั้งของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง


กรณีป่วยโควิด-19

          สำหรับกรณีที่ลูกจ้างติดโควิด-19 โดยมีผลยืนยัน ทั้ง ATK หรือ RT-PCR ตามกฎหมายแรงงานแล้ว ถือว่าลูกจ้างป่วยจริง สามารถใช้สิทธิลาป่วยและลาพักร้อนได้ ตามกฎหมายกำหนดให้ลาป่วยได้ไม่เกิน 10 วัน และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเหมือนเดิม หากลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยครบ รวมถึงใช้ลาพักร้อนครบแล้ว นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างได้ แต่จะถือว่าลูกจ้างขาดงานไม่ได้

          ดังนั้น หากจะเลิกจ้างด้วยเหตุที่ลูกจ้างป่วย ทำให้ไม่สามารถมาทำงานได้ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งหากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือให้ออกจากงานจากการเจ็บป่วยนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง หากสงสัยในการจ่ายค่าตอบแทน โทรสายด่วนประกันสังคม 1506 เพื่อรักษาสิทธิในการทำงานของเราได้

 

 


Reference:

  • Nhaidee.  (2565).  เปิดสิทธิลูกจ้างติดโควิด-19 ต้องกักตัว ลาป่วย ได้ค่าแรงหรือไม่.  สืบค้นเมื่อวันที่ 02 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3O9l83x
  • Jobsdb.  (2564).  Leave without pay รับมืออย่างไรเมื่อที่ทำงานให้เราหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 02 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3thuT7x
  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน.  (2563).  แนวปฏิบัติในการหยุดงานอันเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19.  สืบค้นเมื่อวันที่ 02 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/38NGPXM


เช็คก่อน
Logo