“บ้ง” ภาษาวัยรุ่น คืออะไร

          เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม, ทัศนคติ, มุมมอง, การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ภาษาที่เราใช้ในการสื่อสาร ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราพูดถึงภาษาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เร็วจนเราอาจตามไม่ทัน บางครั้งยังงง ๆ เลยว่า คำที่เขาใช้กันอยู่นี้ จริง ๆ แล้วหมายถึงอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ถ้าใครไม่รู้ความหมายของคำศัพท์ใหม่ ๆ ละก็ อาจจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องก็ได้นะ

          ภาษาที่มีการปรับเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ ก็ถือได้ว่าเป็นความสวยงามของภาษาในรูปแบบหนึ่ง อย่างคำว่า “บ้ง” ที่เป็นเทรนด์อยู่ตอนนี้ เป็นคำสแลงของไทยอีกหนึ่งคำ ซึ่งสามารถใช้ได้กับหลาย ๆ บริบท และใช้สื่อสารถึงสิ่งที่เป็น “เชิงลบ (Nagative) – ความล้มเหลว, ผิดพลาด หรืออะไรก็ตามที่ไม่ดีเท่าที่ควร” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้พูดเวลาที่รู้สึกว่า “มันไม่ดี มันแย่มาก มันไม่ผ่าน” เช่น

  • อาหารและบริการร้านนี้ “บ้ง” มาก ซึ่งก็หมายถึง ร้านนี้ไม่ผ่านอย่างแรง! ครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น อาหารไม่อร่อย บริการไม่เริ่ด ไม่ทานซ้ำ!
  • ไม่อยากคุยกับป้าคนนั้นเลยอะ ความคิด “บ้ง” สุด ๆ ถ้าจะแปลแบบง่าย ๆ ก็คือ ป้าคนนั้นทัศนคติแย่มาก จนไม่อยากคุยด้วย

หรือ เราสามารถ ใช้คำว่า “บ้ง” ในเชิงปฎิเสธได้เช่นกัน อาทิ การโชว์รูปให้ดู แล้วถามว่ารูปนี้โอเคไหม? แล้วเราตอบกลับไปด้วยการ ส่ายหัวและเบ้ปาก พร้อมตอบว่า  “บ้ง” สุด ๆ ไปเลย! ซึ่งก็หมายถึง รูปที่โชว์ให้ดู มันไม่โอเค ไม่ผ่านนะ รูปอื่นดีกว่า

อีกทั้ง เรายังสามารถ ใช้คำว่า “บ้ง” ในเชิงตำหนิได้เช่นกัน อาทิ เห็นน้องกานต์ (นามสมมุติ) กำลังล้อเลียนปมด้อยในใจของน้องน้ำ (นามสมมุติ) แล้วเราผ่านมาเห็น เราสามารถตำหนิน้องกานต์ได้ว่า “น้องกานต์! ทำแบบนี้บ้งมาก ไม่โอเคเลยนะ” ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่น้องกานต์กำลังทำอยู่นั้นแย่มาก เพราะทำให้คน ๆ นึงรู้สึกไม่ดี และควรชี้แจงน้องกานต์ไปด้วยว่าการกระทำเหล่านั้นไม่ดีอย่างไรบ้าง

          อย่างไรก็ตาม คำว่า “บ้ง” ในภาษาอีสาน มีความหมายว่า ตัวหนอน สัตว์จำพวกหนอน เช่น บ้งกือก้อม หรือบ้งกือธรรมดา จะเห็นได้ว่า ภาษายังคงมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และสื่อได้หลากหลายอารมณ์ แม้แต่ละพื้นที่จะมีการใช้ภาษา หรือคำที่เหมือนกัน แต่ความหมายก็ต่างกันได้ และนอกจากคำว่า “บ้ง” แล้ว ยังมีอีกหลายคำ ไว้มีคำอะไรอีกบ้าง รอติดตามกับเช็คก่อนได้เลย      

 

 

 

References:

  • Sistacafe.  (2565).  ตามให้ทัน ร่วม 15 คำศัพท์แสลงภาษาเทยเม้าส์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3E7wCRh
  • TNN online.  (2563).  เปิดศัพท์วัยรุ่น 2020 เด็กๆสมัยนี้เขาใช้ภาษาอะไรกันบนโซเชียล.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3KzKlmg
  • Slang. (2565).  บ้ง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3M2EKoT

เช็คก่อน
Logo