เช็คสิทธิเลือกตั้ง 2566 รู้ไว้เลือกตั้งสบายใจ กาถูกใจ บัตรไม่เสีย

          ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร หรือส.ส. ในปี 2566 นี้ที่เราจะได้เลือกคนที่ชอบ เลือกพรรคที่ใช่มาเป็นตัวแทนทำหน้าที่ในสภา โดยในปีนี้หลายคนอาจมีข้อสงสัยในสิทธิการเลือกตั้งและเขตการเลือกตั้ง ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อน จะได้ไม่สับสนเมื่อถึงวันเลือกตั้งจริง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ วันนี้ เช็คก่อน จึงขอนำรายละเอียดการเช็กสิทธิเลือกตั้งเขตตัวเองในรอบนี้มาฝากทุกคนกัน ไปดูรายละเอียดกันได้เลย  

เช็กสิทธิเลือกตั้ง 2566 รู้ไว้เลือกตั้งสบายใจ กาถูกใจ บัตรไม่เสีย

เลือกตั้ง 2566 เป็นแบบไหน? บัตรเป็นอย่างไร ?

           สำหรับการเลือกตั้งในรอบปี 2566 นี้ จะมีการแบ่งประเภทการเลือกตั้งเป็นสองแบบ คือ

  1. เลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) เป็นการเลือกผู้แทนตัวเราในเขตพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่เพื่อเป็นตัวแทนของเราในสภาผู้แทนราษฎร โดยจะมีจำนวน ส.ส. 400 คน
  2. เลือกตั้งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) เป็นการเลือกพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่านิติบัญญัติ หรือฝ่ายรัฐบาลซึ่งอาจเรียกได้ว่าก็คือการเลือกพรรคการเมืองที่เราชอบเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง โดยจะมีจำนวน ส.ส. 100 คน

ข้อควรระวัง! ในการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ หมายเลขผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตกับหมายเลขผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่ตรงกัน ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจหมายเลขผู้สมัครตัวแทนเขต และหมายเลขของพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อได้ที่ www.vote62.com

 

วิธี “เช็คสิทธิเขตเลือกตั้ง” ของเราทำอย่างไร ?

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย https://boraservices.bora.dopa.go.th
  2. กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน
  3. จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูล ได้แก่
  • ชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • จังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้ง
  • หมายเลขเขต ที่เรามีสิทธิไปเลือกตั้ง
  • สถานที่เลือกตั้งของเรา
  • ลำดับในบัญชีเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งที่เรามีชื่ออยู่

 

วันเลือกตั้งต้องเตรียมเอกสารอะไรไป ? แล้วต้องทำอะไรบ้าง ?

เอกสารที่ใช้มีเพียงแค่บัตรประชาชนตัวจริง (ใบขับขี่หรือหนังสือเดินทาง) ใบเดียว ก็สามารถไปเลือกตั้งได้เลย โดยขั้นตอนการเลือกตั้ง มีดังนี้

  1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่ของเราที่ประกาศไว้หน้าบริเวณที่เลือกตั้ง เช็คก่อน แนะนำยื่นบัตรประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบจะสะดวกกว่า
  2. ยื่นหลักฐานแสดงตนเอง ได้แก่ บัตรประชาชน (ใบขับขี่หรือหนังสือเดินทาง) ให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง
  3. ลงชื่อบนต้นขั้วบัตร พร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งแบบแบ่งเขต (สีม่วง) และแบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว)
  4. เข้าคูหาทำการกาเครื่องหมาย “กากบาท” ✖️ ลงในช่องที่กำหนด
  5. พับบัตรเลือกตั้งไปหย่อนในหีบบัตร

หมายเหตุ: บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองที่เราต้องการเลือก แต่ ! บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต (สีม่วง) ต้องจำหมายเลขผู้สมัครของพรรคที่เราต้องการจะเลือกในเขตของเราเอง

 

 

Reference:

  • Thestandard  (2566).  เลือกตั้ง 2566 : รู้จักและเข้าใจ ‘ส.ส. แบ่งเขต’ และ ‘ส.ส. บัญชีรายชื่อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/3NWO69O
  • กรมการปกครอง (2566).  ตรวจสอบรายละเอียดผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.).  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/3LZroLo
  • Vote62.com (2566). เลือกตั้ง ’66 ดูรายชื่อผู้สมัครผู้สมัคร ส.ส..  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566, จาก https://bit.ly/42HaYy6

เช็คก่อน
Logo