การเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชนชาวไทย ในการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองเพื่อดูแลปากท้อง การพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิต ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลได้มีการประกาศยุบสภาแล้ว ทำให้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้
พวกเรา เช็กก่อน จึงนำรายละเอียดที่น่าสนใจสำหรับทุกคนจะได้เตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง 2566 นี้มาฝากกัน ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
เลือกตั้ง 2566 จะมีขึ้นเมื่อไหร่ ?
โดยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม จะมีกำหนดการเลือกตั้ง ดังนี้
- 25 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 (15 วันเท่านั้น) : วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต-นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร
- 7 พฤษภาคม 2566 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตเลือกตั้งตามภูมิลำเนาผู้ใช้สิทธิ หรือนอกเขตเลือกตั้ง สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางกลับภูมิลำเนาไปใช้สิทธิ และวันลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ
- 7-13 และ 15-21 พฤษภาคม 2566 วันแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
- 14 พฤษภาคม 2566 วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส)
เลือกตั้ง 2566 ต้องกาเลือกส.ส. อย่างไร ?
โดยในการเลือกตั้งในปี 2566 นี้จะมีการเปิดให้กากบาทลงคะแนนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่
- บัตรใบแรก เลือกส.ส.ตัวแทนเขต สำหรับเป็นผู้แทนราษฎรของเราในการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
- บัตรใบที่สอง เลือกพรรคที่ชอบ เพื่อให้เข้าสภาและหากได้จำนวนส.ส.มากที่สุดก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
อยากใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งนอกเขต ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สามารถขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งนอกเขตที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 ดังนี้
- ยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานกกต.จังหวัด
- ยื่นแบบผ่านช่องทางออนไลน์ที่แอปพลิเคชัน Smart Vote (Android และ iOS)
- ยื่นแบบผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ stat.bora.dopa.go.th/
จะตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง ว่าต้องไปเลือกสส.ที่ไหน อย่างไร ?
โดยหากใครเตรียมตัวที่จะไปเลือกสส.ที่ชอบ พรรคที่ใช่แล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะต้องเดินทางไปคูหาเลือกตั้งที่ไหน สามารถตรวจสอบสถานที่เลือกตั้งได้ที่แอปพลิเคชัน Smart Vote (Android และ iOS) ได้เลย
ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง จะเป็นอะไรไหม ?
การเลือกตั้งเป็นหน้าที่สำหรับพลเมืองชาวไทยที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยหากเราไม่ไปเลือกตั้งส.ส. อาจถูกเพิกถอนสิทธิต่าง ๆ ดังนี้
- ไม่สามารถยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้
- ไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
- ไม่สามารถดำรงตําแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ไม่สามารถดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น, เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น, ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น, ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น, ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ได้
Reference:
- TNN Thailand. (2566). เลือกตั้ง 2566 สรุปครบทุกเรื่อง “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ต้องรู้ไว้ เช็กเลยที่นี่
. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566, จาก http://bit.ly/3FQYPh9 - Thairath. (2566). กกต. ประกาศวันเลือกตั้ง 2566 เคาะแล้วอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. พร้อมไทม์ไลน์ปฏิทิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566, จาก http://bit.ly/40CL0L1
- Thansettakij. (2566). เลือกตั้ง2566 : วิธีลงทะเบียนล่วงหน้าทั้งแบบในเขต และนอกเขต. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566, จาก http://bit.ly/40gfMd7