หลังจากเริ่มมีอาการ และสงสัยตัวเองจากการไปสัมผัสความเสี่ยงมา อันดับแรกคือตรวจ ATK และถ้าตรวจขึ้น 2 ขีด ก็เป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 แล้วเราจะทำอย่างไรดี เพราะบางคนไป Hospitel บางคนทำ Home Isolation งั้นเรามาหาข้อมูลกันดีกว่าว่า หากติดโควิด-19 แล้ว เราจะต้องติดต่อใคร? แต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร? มาดูกัน
เช็คอาการป่วยโควิด-19 ว่าเราอยู่ระดับไหน
- หากเราไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย มีไข้ต่ำ ๆ หรือไอเล็กน้อย และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ให้รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ไอ, ดื่มน้ำมาก ๆ ให้ทำ Home Isolation กักตัวที่บ้าน 10 วัน ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข
- ถ้าประเมินแล้วมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น มีอาการไข้สูง ≥ 39 องศา นาน 24 ชั่วโมง, หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง/นาที, ออกซิเจนที่วัดปลายนิ้ว < 94% แนะนำไปสถานพยาบาลตามสิทธิใกล้บ้าน ควรโทรเข้าไปนัดหมายก่อนเข้ารับบริการ หรือดำเนินการตามประกาศของแต่ละจังหวัด
- กรณีผู้ป่วยเด็ก มักจะมีไข้สูง ควรเช็ดตัวและทานยาลดไข้ อาจมีไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน และมีน้ำมูกอุดตันทางเดินหายใจ อาจต้องใช้น้ำเกลือล้างจมูก หรือไม้พันสำลีเช็ด จะช่วยให้หายใจโล่งขึ้น
การติดต่อเพื่อรับการรักษาแบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation)
- ติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาโดยตรง โดยติดต่อประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุข, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อแจ้งผลการตรวจ ATK เพื่อรับยาและติดตามอาการจากเจ้าหน้าที่
- ช่องทางติดต่อ เพื่อเข้ารับการรักษาตัวในระบบ Home Isolation กรณีที่เราไม่สามารถติดต่อกับหน่วยงานโดยตรง สามารถติดต่อเข้ารับการรักษาได้ 3 ช่องทางดังนี้
- โทรศัพท์เข้าสายด่วน 1330 กด 14
- ไลน์ออฟฟิเชียล สปสช. @Nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
- ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. หรือคลิกที่ลิงก์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI
3. รับยาจากร้านขายยา รักษาโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ฟรีทั่วประเทศ โดยสามารถติดต่อ หรือแอดไลน์ร้านขายยาที่ร่วมโครงการ โดยไม่ต้องเดินทางไปร้านขายยา ทางร้านจะจัดส่งยาทางไปรษณีย์และให้คำปรึกษาฟรี ! ตรวจสอบรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่นี่ https://www.nhso.go.th/downloads/197
- ติดต่อรับยาและการดูแลจากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงกับทาง สปสช. ฟรี ! เป็นไปตามเงื่อนไขของทางโรงพยาบาล ซึ่งบางโรงพยาบาลจะมีการตรวจ ATK ซ้ำเพื่อยืนยันก่อนทำการรักษา (มีค่าใช้จ่ายในการตรวจ)
References:
- กรมการแพทย์. (2565). คู่มือฉบับประชาชนกรณีรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักกันตนเอง (Outpatient with Self Isolation. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/39O7QdM
- EPI-WIN. (2565). โรคโควิด 19 คืออะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3smv010
- สสส. (2565). Home Isolation คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565, https://bit.ly/3wbyjcN