นำเงินไป “โปะหนี้บ้าน” กับ “ลงทุน” แบบไหนคุ้มกว่ากัน ?

          “การโปะหนี้บ้าน” เป็นตัวเลือกของใครหลาย ๆ คน เวลามีเงินก้อนใหญ่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโบนัสก้อนโต, ถูกล็อตเตอรี่ หรือได้รับมรดก ฯลฯ เพราะการโปะบ้านนั้นจะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้มาก แถมยังได้ความสบายใจที่ปลอดภาระก้อนโตได้

          แต่อีกนัยหนึ่ง เงินก้อนเดียวกันนี้ก็สามารถนำไปลงทุนได้หลายทาง ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยที่ประหยัดไป อีกทั้งการปิดหนี้บ้านเราจะไม่สามารถนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ วันนี้ เช็คก่อน จึงอยากพาทุกท่านมาตรวจเช็คว่าสุขภาพการเงินของเรา ว่าเหมาะกับการโปะบ้านหรือไม่

ควรนำเงินไปโปะบ้านหรือลงทุนดีกว่ากัน?

         แน่นอนว่าเมื่อมีเงินก้อนใหญ่เข้ามา หรือมีเงินเก็บมากพอ หลายคนก็คิดจะเอาไปโปะบ้าน เพื่อประหยัดดอกเบี้ย แต่ในทางกลับกันหากนำเงินดังกล่าวไปลงทุนเช่น ซื้อหุ้น, กองทุน, ทองคำ, หรือนำไปต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ ฯลฯ ก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการประหยัดดอกเบี้ยหลายเท่า

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการลงทุนของแต่ละคน อีกทั้งเราก็ต้องประเมินตนเองให้ดี ว่าระหว่างนำเงินไปลงทุนกับโปะบ้าน อันไหนให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน

หากโปะบ้านแล้ว มีเงินพอใช้จ่ายรายเดือนไหม?

        เป็นความจริงที่ว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่ปัจจุบันหลายคนอาจจะแย้งได้ว่า “การมีเงินสดใช้เป็นลาภอันประเสริฐยิ่งกว่า” การมีเงินสดพอใช้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารการเงิน

  • เมื่อเราพิจารณาที่จะโปะหนี้บ้านเราต้องประเมินให้ดีว่า เรามีเงินสดใช้ในแต่ละเดือนเพียงพอหรือไม่
  • อีกทั้งมีหนี้อย่างอื่นที่เราต้องจ่ายหรือเปล่า เช่น ผ่อนรถ หรือหนี้บัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งหากเรามีหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยบ้านก็ควรที่จะปิดหนี้นั้นก่อน

เงินสำรองฉุกเฉินมีเพียงพอไหม?

             นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ต้องให้ความสำคัญแล้ว ก่อนจะโปะบ้านเราต้องประเมินอีกว่า หากโปะไปแล้วเรามีเงินสำหรับกรณีฉุกเฉินมากพอไหม เช่น เกิดอุบัติเหตุ, การเจ็บป่วย หรือซื้อของชิ้นใหญ่ ฯลฯ

ซึ่งถึงแม้จะมีประกัน หรือมีบัตรเครดิตสำหรับเรื่องพวกนี้ แต่เราจำเป็นต้องมีเงินสดสำรองสักก้อนไว้ตลอด เผื่อเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั่วไปมักแนะนำให้มีเงินเก็บประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน

ประเมินความมั่นคงของรายได้

           พูดง่าย ๆ ก็คือ ประเมินความมั่นคงของรายได้ = งานของเรามั่นคงแค่ไหน สำหรับพนักงานบริษัท ความมั่นคงของงานนอกจากจะขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวเราแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสถานภาพของบริษัทอีกด้วย

  • ฉะนั้น เราจึงต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี ว่าหากเราต้องลาออก หรือไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลานานเรามีเงินสดเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตไหม

 

 

 

Reference:

  • คะนอง ศรีพิบูลพาณิชย์.  (2563).  นี่ใช่เวลามาโปะหนี้บ้านไหม.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3lNGz16
  • DDproperty Editorial Team.  (2559).  นี่เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3lMvnSk
  • Krungsri The COACH.  (2564).  โปะบ้าน หรือ เก็บเงินก้อนไว้ดีกว่า – ทางเลือกคนมีเงินออม.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3KiFVCR


เช็คก่อน
Logo