อยากซื้อบ้านหลังแรก อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องเตรียมตัวอย่างไร

 

         บ้านหลังแรก ถือเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คน หลังจากที่เราทำงานไปได้สักพัก เมื่อเริ่มอยู่ตัวหรือเริ่มมีรายได้พอสมควรก็อยากจะขยับขยายให้มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ติดปัญหาว่าเงินเดือนจะพอซื้อบ้านในฝันไหม การซื้อบ้านจะต้องมีค่ามัดจำเท่าไหร่ แล้วการเลือกทำเลควรเลือกแบบไหน อยากจะซื้อบ้านเดี่ยวหรือเป็นทาวน์เฮาส์ดี นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของคำถามในใจของใครหลาย ๆ คนที่ฝันว่าอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง

เตรียมความพร้อมของผู้กู้ชื้อบ้าน

  1. สำรวจภาระหนี้สิน หากเรายังมีภาระหนี้สินเยอะ หากชื้อบ้านไปแล้วอาจจะมีปัญหาการผ่อนได้ ดังนั้น ต้องรอบคอบในการตัดสินใจ เพราะการชื้อบ้านเป็นหนี้ก้อนใหญ่พอสมควร
  2. ปิดหนี้สิน หากเรายังมีภาระหนี้สินเกินตัว หรือผ่อนธนาคารหลายธนาคาร จำเป็นที่จะต้องปิดหนี้บางส่วน เนื่องจากหากมีหนี้คงค้างมากเกินไป มีโอกาสสูงที่จะกู้ไม่ผ่านได้
  3. หยุดผ่อนสินค้าบางอย่าง หากยังผ่อนสินค้าจะทำให้รายได้ของเราลดลงตามไปด้วย และรายได้ก็มีโอกาสติดลบ ทำให้ความสามารถในการผ่อนในอนาคตอาจจะลำบากได้
  4. เริ่มออมเงิน การออมเงินทำให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ค่าดาวน์บ้าน ค่ามัดจำ ค่าโอน ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จำเป็นต้องมีเงินสำรอง
  5. เตรียมเอกสารให้พร้อม เอกสารที่สำคัญ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน บัตรประชาชน สลิปเงินเดือน แบบบ้าน สำเนาฉโนดที่ดิน ฯลฯ

การเตรียมตัวซื้อบ้าน

1. ปรึกษากับคนในครอบครัวหรือคนสนิท

          ในการตัดสินใจที่จะซื้อบ้าน เพื่อให้คนในครอบครัวหรือคนสนิทได้ให้คำแนะนำในการตัดสินใจซื้อบ้านหรืออย่างน้อย ๆ ก็ช่วยตัดสินใจ เช่น ซื้อบ้านเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ หรือหมู่บ้านจัดสรร ฯลฯ 

2. ปรึกษาธนาคารที่เราต้องการจะยื่นสินเชื่อ

          เพื่อขอคำแนะนำและจัดเตรียมเอกสาร แนะนำว่าอาจจะต้องติดต่อธนาคารอย่างน้อย 2-3 ธนาคาร เพื่อเปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อย รายละเอียดและความเหมาะสมของแต่ละสินเชื่อบ้าน เนื่องจากสินเชื่อบ้านของแต่ละธนาคารก็แตกต่างกันออกไป

3. เลือกทำเลที่เราจะซื้อ

         ซึ่งก็อาจจะมี 2 แบบ คือ สร้างบ้านเดี่ยวหลังใหม่หรือบ้านเดี่ยวเป็นมือสอง ทั้งนี้ ธนาคารจะเป็นคนแนะนำอีกที ส่วนกรณีซื้อบ้านเดี่ยวมือสอง เจ้าหน้าที่อาจจะให้คำแนะนำในการต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้านหากมีการชำรุด

  • ถ้าเป็นทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ ก็เช่นกัน เราสามารถเลือกได้เลย ว่าอยากได้แบบไหน ทำเลไหน และเข้าไปขอดูบ้านตัวอย่างในการตกแต่งได้
  • กรณีที่เป็นคอนโดมิเนียม ก็ใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือ ต้องปรึกษากับธนาคารว่าเราต้องการคอนโดฯ แต่โดยส่วนใหญ่คอนโดฯ จะมีเจ้าหน้าที่หรือเซลล์เป็นผู้ให้คำแนะนำในเบื้องต้นอยู่แล้ว

4. คำนวณเงินกู้

          ธนาคารจะเช็คความสามารถในการกู้จากรายได้ของเรา ที่ได้ทำการยื่นเอกสารไป เพื่อคำนวณว่าเราจะสามารถกู้ได้มากน้อยแค่ไหน หากราคาบ้านที่เราต้องการซื้อนั้นมีราคาสูงมากเกินไป ก็สามารถพูดคุยต่อรองกับเจ้าของบ้านในเบื้องต้น เพื่อปรับลดราคาหรือสเปกบ้านลง (กรณีซื้อใหม่) เพื่อให้อยู่ในวงเงินที่สามารถกู้ได้

5. ตกลงค่าโอนกรรมสิทธิ์

         การโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง หรือภาษีธุรกิจ ควรจะต้องคุยและตกลงกับเจ้าของบ้านที่เราจะซื้อให้เรียบร้อย ว่าใครจะเป็นคนจ่ายหรือจ่ายกันคนละครึ่ง ซึ่งจะต้องทำการตกลงกันก่อนทำการซื้อขาย

6. นัดประเมิน

         ต่อไปจะเป็นการประเมินราคาจากบริษัทที่รับประเมินหรือจากธนาคารเพื่อประเมินสินทรัพย์ ซึ่งราคาประเมินอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่าราคาบ้านของเราที่จะซื้อ แต่โดยส่วนใหญ่ราคาประเมินจะใกล้เคียงกับราคาซื้อขาย ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างไม่มากนัก ในส่วนนี้สามารถพูดคุยปรึกษากับเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ประเมินได้ เพื่อขอคำแนะนำต่าง ๆ เพิ่มเติม

7. นัดโอนกรรมสิทธิ์

         เมื่อประเมินผ่านแล้ว ต้องนัดกับเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อทำการเซ็นสัญญา และจะต้องเดินทางไปที่ดินเพื่อทำการจดจำนอง จากนั้นกลับมาที่ธนาคารอีกครั้ง เพื่อยื่นสัญญาจดจำนองนั้นให้กับธนาคาร สุดท้าย ธนาคารจะจ่ายเงินค่าซื้อบ้านดังกล่าวให้กับเจ้าของบ้าน แค่นี้เราก็จะมีบ้านเป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว

 

 

Reference:

  • DD property.  (2565).  กู้เงินซื้อบ้าน ผ่อนบ้านกับธนาคารง่ายขึ้น ดู 7 เทคนิคก่อนยื่นกู้.   สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/2N5bT7Y
  • Sivalai.  (2565).  เตรียมตัวซื้อบ้าน 7 ขั้นตอนพื้นฐานที่คุณต้องรู้.  สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3NwPA6Y
  • Krungsri.  (2565).  5 วิธีเตรียมพร้อม ก่อนกู้ซื้อบ้าน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3AaBMMm

เช็คก่อน
Logo