ทุกครั้งที่มีมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ คนไทยอย่างเรา ๆ ก็ได้เวลาแห่งการร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจแก่นักกีฬาทีมชาติไทยกันทุกครั้ง เพราะเรารู้ว่ากว่าจะเป็นนักกีฬาทีมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องอดทนต่อการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงหรือผ่านอุปสรรคมามากมาย แต่กว่าจะไปถึงฝั่งฝันที่ตั้งใจไว้ การเดินทางไปถึงไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาเหล่านั้นจึงต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งครอบครัวและหน่วยงานด้านการกีฬามาช่วยผลักดัน เพื่อให้นักกีฬาทุกคนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นก็คือ “ชัยชนะ”
เปิดรายได้นักกีฬาทีมชาติ ได้เงินเดือนฉลี่ยเท่าไหร่กันบ้าง?
แม้ว่านักกีฬาทีมชาติบางชนิดกีฬาจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงซ้อมในการเก็บตัวทีมชาติ และได้รายได้เพิ่มเติมจากโบนัสเงินรางวัล หรือเงินอัดฉีดจากทางรัฐบาลหรือหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ ในกรณีนักกีฬาได้รับเหรียญรางวัลกลับมา ส่วนเบี้ยเลี้ยงซ้อมทุกสมาคมจะเท่ากันอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน และจะได้รับในช่วงของการฝึกซ้อมเก็บตัวทีมชาติเท่านั้น เมื่อการแข่งขันจบลงก็จะไม่มีรายได้ส่วนนี้อีก จนกว่าจะมีการคัดตัวนักกีฬาทีมชาติครั้งต่อไปและเก็บตัวซ้อมอีกครั้ง แต่หากได้รับชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก หลังจากกลับจากการแข่งขันอาจจะได้รับการติดต่อจากบริษัทต่าง ๆ รับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ ถ่ายโฆษณา โปรโมทให้กับสินค้าของบริษัทก็เป็นได้
ในที่นี้ข้อเสนอกีฬายอดฮิตของคนไทยที่ทางสมาคมมีเงินเดือนหรือเงินสนับสนุนให้แก่นักกีฬาทีมชาติ อ้างอิงตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา เช่น
- นักกีฬาวอลเลย์บอล : นักกีฬาที่ติดทีมชาติมีรายได้ตั้งแต่ 500,000 – มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี (เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท/เดือน) ในขณะที่นักกีฬาระดับแบรนด์แอมบาสเดอร์ (Brand ambassador) สูงสุดขณะนี้ อยู่ที่ประมาณปีละ 10 – 15 ล้านบาท/ปี (มีทั้งเล่นในลีกไทยและต่างประเทศ)
- นักวอลเลย์บอลระดับเยาวชน เล่นเป็นตัวหลักในทีมลีก จะได้รับเงินเดือนโดยประมาณ 40,000 – 100,000 บาทต่อเดือน
- นักวอลเลย์บอลระดับทีมชาติตัวจริงหรือสตาร์ จะได้รับเงินเดือนประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป หรือหลัก 1,000,000 บาทต่อเดือน
- นักฟุตบอล กีฬายอดฮิตที่ได้รับความนิยม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีค่าเหนื่อยอยู่ที่
- นักฟุตบอลระดับ ไทยลีก 3 เฉลี่ย 10,000 – 30,000 บาท
- นักฟุตบอลระดับ ไทยลีก 2 เฉลี่ย 25,000 – 100,000 บาท
- นักฟุตบอลระดับ ไทยลีก 1 เฉลี่ย 100,000 – 700,000 บาท
- นักมวย กีฬาประจำชาติที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กีฬาอื่น ๆ มีค่าเหนื่อยอยู่ที่
นักมวยฝึกหัด จะได้หลักพันหรือจ่ายเป็นรายเดือน ประมาณ 4,000 – 9,000 บาท และอาจจะได้ค่าขึ้นชกที่ 3,000 – 10,000 ต่อไฟต์
นักมวยขึ้นเวที จะได้ค่าชกเป็นไฟต์ โดยการทำสัญญา 60:40 หรือ 50:50 โดยค่าตัวเริ่มตั้งแต่ 30,000 – 300,000 บาทต่อไฟต์ ขึ้นอยู่กับความดัง
แต่อย่างไรก็ตาม ในบางชนิดกีฬา เช่น กีฬาเทควันโดหรือกีฬายิงปืน ฯลฯ ยังประสบปัญหาเรื่องสวัสดิการของนักกีฬาอยู่ การได้รับเบี้ยเลี้ยงในการซ้อมหลักร้อยต่อวัน อาจจะไม่พอต่อการใช้จ่าย แถมในบางครั้งยังต้องควักเงินส่วนตัวเพื่อซื้ออุปกรณ์ซ้อมเองอีก
ดังนั้น สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น และถือว่าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้นักกีฬาทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการฝึกซ้อมและพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ต่อไป หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญในจุดนี้มากกว่านี้ ก็คงจะดีไม่น้อย
References:
- SIAMSPORT. (2561). ท็อป 5 กีฬาอาชีพทำเงิน น่าเอาดีเชียร์ให้ลูกเล่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3uAKxLX
- MoneyHUB. (2560). ส่องรายได้นักกีฬา อีกเส้นทางอาชีพที่น่าอิจฉา. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3anpqpF
- Spring News. (2565). วิว พงศ์ชนก สะท้อนความจริงค่าตอบแทนสวัสดิการคือเรื่องเศร้าของนักกีฬาไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3bSomu5
- ไหนดี. (2565). เปิดเงินเดือนเฉลี่ย นักกีฬาไทย อาชีพใหม่ในฝันของเด็กหลายคน. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3Phv7Eo