ภาวะซึมเศร้า สำหรับประเทศไทยในยุคปัจจุบันถือเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการเศร้า เบื่อหน่าย หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกเหนื่อยล้า มีปัญหาในการนอนหลับหรือรับประทานอาหาร และอาจมีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
ภาวะซึมเศร้าสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวได้ ดังนั้นวันนี้ เช็คก่อน เลยอยากจะขอแนะนำวิธีเช็คตัวเองเบื้องต้นว่าตัวเราเองมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
วิธีเช็คตัวเองเบื้องต้นว่าตัวเราเองมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ?
“โรคซึมเศร้า” คืออะไร ?
โรคซึมเศร้า เป็นสภาวะความผิดปกติของสมองอันเกิดจากสภาะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจ โดยจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์, ความรู้สึก และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย ทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนไป ซึ่งในทางการแพทย์นั้นได้อธิบายว่าโรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ
- ซีโรโตนิน
- นอร์เอปิเนฟริน
- โดปามีน
สังเกต “อาการซึมเศร้า” เบื้องต้น
อาการของภาวะซึมเศร้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างน้อย 5 อาการจาก 9 อาการต่อไปนี้ เป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ก็ถือว่าตัวเราเองอาจมีภาวะซึมเศร้าได้ ได้แก่
- รู้สึกเศร้าหรือหดหู่
- สูญเสียความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมที่เคยชอบ / เคยสนุก
- นอนหลับมากหรือน้อยเกินไปกว่าปกติในชีวิตประจำวัน
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก
- รู้สึกเหนื่อยล้าหรือไม่มีแรง อ่อนแรงง่าย
- รู้สึกว่าความคิดอ่านของเราช้าลงหรือกระสับกระส่ายไม่มีสมาธิ
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าหรือโทษตัวเองเมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกใจเกิดขึ้น
- ใจลอย สมาธิลดลง
- มีความคิดอยากทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
ซึ่งเราสามารถทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าที่สามารถใช้ในการประเมินอาการเบื้องต้นได้ โดยใช้แบบทดสอบภาวะซึมเศร้ามหาวิทยาลัยมหิดล (คลิกที่นี่)
เมื่อพบว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้าควรทำอย่างไร ?
หากประเมินตัวเองเบื้องต้นหรือใช้แบบทดสอบภาวะซึมเศร้าแล้ว เราควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องโดยการรักษาภาวะซึมเศร้าอาจทำได้ ดังนี้
วิธีรักษาภาวะซึมเศร้า “ด้วยการแพทย์”
- การให้ยา
- การให้คำปรึกษาและจิตบำบัด
วิธีรักษาภาวะซึมเศร้า “ด้วยตนเอง”
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน
- พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
- พูดคุยระบายกับคนที่ไว้ใจเกี่ยวกับความรู้สึกของตนเอง
- เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมบำบัดสนับสนุนสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
Reference
- โรงพยาบาลศิครินทร์. (2566). เรียนรู้และเข้าใจโรคซึมเศร้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566, จาก https://bit.ly/3tQtPKY